วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


ปัจจัยเสี่ยงของ Facebook โดย siripong@kidtalentz.com

วันที่ 09 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 16:42:59 น.

คอลัมน์ IT.talentz ในประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 9-12 ก.พ.2555
โดย siripong@kidtalentz.com 

พักนี้เรื่องที่น่าตื่นเต้นในแวดวงไอทีเรื่องหนึ่งก็คือการยื่นเอกสารของ "เฟซบุ๊ก" ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ เพื่อจะกระจายหุ้นในตลาดแรกหรือทำไอพีโอตามหลักเกณฑ์เพื่อก้าวขึ้นไปเป็นบริษัทมหาชน มูลค่าของบริษัทที่ประเมินกันไว้สูงมากถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ "เฟซบุ๊ก" ยื่นต่อ ก.ล.ต.สหรัฐนั้น นำมาซึ่งความไม่แน่ใจในศักยภาพของบริษัทในหลายประเด็นเช่นกัน ปัจจุบันเฟซบุ๊กผู้ลงทะเบียนใช้ทั่วโลกอยู่กว่า 800 ล้าน ราว ๆ ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ล็อกอินเข้าใช้งานทุกวัน

"เฟซบุ๊ก" ทำรายได้ 3,710 ล้านในปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นรายได้ต่อหัวสมาชิกเท่ากับ 4.39 เหรียญต่อปี หรือเกือบ 37 เซนต์ต่อวัน

นั่นหมายความว่า บริษัทยุคใหม่ที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อย่างไม่เคยมีมาก่อนนี้ ยังไม่สามารถแปรสินทรัพย์อันทรงคุณค่าที่สุดคือ จำนวนสมาชิกผู้ใช้งานให้ออกมาเป็นรายได้ได้เต็มศักยภาพที่คิดกัน เทียบกับมูลค่าบริษัทที่สูงถึง 100,000 ล้านเหรียญแล้วยังห่างกันอีกไกล

ต่อให้จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านคน ในอัตรารายได้ต่อหัวเท่าเดิม บริษัทก็จะมีรายได้เพียง 13,170 ล้านเหรียญต่อปี

เว้นแต่ "เฟซบุ๊ก" จะหาหนทางสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งแน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กต้องคิดอยู่แล้ว และมีคนมีความเห็นไป 2 ทางด้วยกัน ทางหนึ่งคือมีความเป็นไปได้อยู่สูง ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า ยากที่จะทำได้

นั่นยังไม่นับว่าหากในการทำ "ไอพีโอ" ราคาหุ้นที่กระจายบนพื้นฐานมูลค่าบริษัทที่ 100,000 ล้านเหรียญ มูลค่าเพิ่มของหุ้นหลังจากนั้นในความคาดหวังก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก แต่เป็นความคาดหวังที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงเมื่อพิจารณาจากข้อมูลจริง ๆ ที่มีอยู่ในเวลานี้

อีกประเด็นหนึ่งที่สร้างความกังวลให้กับนักวิเคราะห์ก็คือ ทุกวันนี้คนหันไปใช้เฟซบุ๊กผ่านอุปกรณ์โมบายมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลที่เฟซบุ๊กให้ไว้ก็คือ เดือนเดือนหนึ่งมีผู้เข้าเฟซบุ๊ก ด้วยอุปกรณ์โมบายราว 400 กว่าล้านคนต่อเดือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2011) และคาดว่าอัตราการเติบโตของการเข้าเฟซบุ๊กด้วยอุปกรณ์ในอนาคตข้างหน้าจะสูงกว่าอัตราการเติบโตโดยรวม และเฟซบุ๊กก็พยายามพัฒนาเพื่อกระตุ้นการใช้ผ่านอุปกรณ์โมบายมาตลอด

แต่เฟซบุ๊กยอมรับว่า จนถึงขณะนี้บริษัทยังไม่ได้สร้างรายได้โดยตรงจากการใช้ผ่านอุปกรณ์โมบายเลย และยังบอกว่าความสามารถของบริษัทที่จะสร้างรายได้ในส่วนนี้ขึ้นมาก็ยังไม่แน่นอน ซึ่งถ้าแนวโน้มยังเป็นไปแบบนี้ และเฟซบุ๊กยังไม่ประสบความสำเร็จที่จะสร้างรายได้จากการใช้เฟซบุ๊กผ่านอุปกรณ์โมบาย ก็จะเกิดผลกระทบในทางลบต่อรายได้และผลประกอบการทางการเงินของบริษัท

หุ้นเฟซบุ๊กจึงมีปัจจัยเสี่ยงที่มองเห็น และมีอนาคตที่คาดการณ์ไม่ได้อยู่อีกมาก

แม้กระทั่งกับผู้ใช้บนเดสก์ทอปก็ยังทำได้เท่าที่ตัวเลขปรากฏ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น